วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2557

พุทธวิธีในการสอน


       เป็นเรื่องราวๆที่ข้าพเจ้าได้สรุปย่อมาจากหนังสือ พุทธวิธีในการสอน ของวศิน อินทสระ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับครู อาจารย์ ผู้ฝึกอบรม วิทยากร และอาชีพอื่นๆที่เกี่ยวข้องกันนี้ รวมถึงบุคคลทั่วไป
   
   พุทธวิธีในการสอนหมายถึงวิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สอนพุทธบริษัทคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หรือบุคคลทั่วไปทั้งเทวดาและมนุษย์ ตามพระนามที่ได้รับยกย่องว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํง (ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย)

   
จากหนังสือได้กล่าวไว้ว่า พุทธวิธีที่ทรงสอนนั้นมีมาก แต่จะนำเสนอเพียง ๕ วิธีนั่นคือ
๑.    ทรงสอนด้วยวิธีเอกังสลักษณะ คือ ทรงแสดงยืนยันไปข้างเดียว เช่นความดีมีผลเป็นสุข ความชั่วมีผลเป็นทุกข์ หรือกุศลเป็นสิ่งที่ควรบำเพ็ญ อกุศลเป็นสิ่งที่ควรละ
๒.   ทรงสอนด้วยวิธีวิภัชลักษณะ คือ ทรงแยกประเด็นให้ชัดเจน เช่นครั้งหนึ่งอภัยราชกุมารทูลถามพระพุทธเจ้าว่า พระคถาคตตรัวพระวาจาอันไม่เป็นที่พอใจของคนอื่นบ้างหรือไม่ พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ปัญหานี้จะกล่าวตอบโดยส่วนเดียวมิได้ (ต้องแยกตอบ)” พระวาจาที่ทรงกล่าวแก่อภัยราชกุมาร สรุปใจความสำคัญว่า วาจาใดที่ไม่จริง ไม่มีประโยชน์ จะเป็นที่รักที่พอใจของผู้อื่นหรือไม่ ก็ไม่ตรัสพระวาจานั้น ส่วนวาจาใดที่จริง มีประโยชน์ จะเป็นที่รักที่พอใจของผู้อื่นหรือไม่ก็ตาม ก็ทรงเลือกกาลเวลาตรัสพระวาจานั้น
๓.    ทรงสอนโดยวิธีปฏิปุจฉาลักษณะ คือ ทรงถามย้อนเสียก่อนแล้วจึงตรัสสอน ซึ่งเมื่อมีผู้ตั้งคำถาม เราอาจจะย้อนถามในสิ่งที่มองเห็นง่ายๆ เช่นเมื่อมีคนถามว่ากรรมที่บุคคลทำแล้วก่อนให้ผลอยู่ที่ใด อาจจะถามย้อนว่ามะม่วงที่เราปลูกไว้ก่อนมีผล ผลมันอยู่ที่ใด
๔.   ทรงสอนโดยวิธีปนลักษณะ คือ พักปัญหาไว้ไม่ทรงพยากรณ์ คือไม่ทรงตอบเรื่องนั้น เพราะทรงเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ หรือยังไม่ถึงเวลาที่จะรู้ เช่นเรื่องพระมาลุงกยะทูลถามเรื่องโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง ชีพกับสรีระเป็นอันเดียวกันหรือคนละอย่าง เป็นต้น ทรงนิ่งเฉยไม่ตอบ แต่ทรงชี้แจงให้พระมาลุงกยะเข้าใจว่า เรื่องทุกข์ซึ่งเผชิญหน้ามนุษย์อยู่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรู้ก่อน เปรียบเหมือนคนที่ถูกลูกศรอาบยาพิษ ควรรีบขวนขวายรักษาแผลให้หายดีกว่ามัวสนใจเรื่องว่าใครเป็นคนยิงลูกศร
๕.   ทรงสอนโดยวิธีอุปมาลักษณะ คือ ทรงสอนแบบเปรียบเทียบ เช่นทรงแสดงแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ผ้ากาสีมีลักษณะ ๓ อย่างคือสีงาม สัมผัสนิ่มดี ราคาแพง ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นผ้าใหม่ หรือกลางเก่า กลางใหม่ หรือเก่า เมื่อเก่าแล้วคนก็นิยมนำไปห่อรัตนะ หรือห่อของหอม ฉันใดทำนองเดียวกัน ภิกษุบางรูปไม่ว่าจะเป็นภิกษุใหม่หรือปูนกลาง หรือเป็นเถระ มีลักษณะ ๓ อย่างคือ (๑) เป็นผู้มีศิล มีธรรมงาม (เท่ากับสีงามของภิกษุ) (๒) เป็นผู้ให้ประโยชน์สุขแก่ผู้คบหาสมาคม (เท่ากับสัมผัสนิ่มของภิกษุ) (๓) ทำให้ปัจจัยที่ทายกถวายมีอานิสงส์มาก (เท่ากับราคามากหรือราคาแพงของภิกษุ) พระพุทธองค์ทรงเตือนภิกษุทั้งหลายว่า ให้ทำตนเช่นผ้ากาสี อย่าทำตนเป็นเช่นผ้าเปลือกไม้
ขอขอบคุณสำหรับการติดตามครับ และหวังว่าจะเป็นทานที่ให้ประโยชน์ได้จริงครับ
อ้างอิง
          วศิน อินทสระ. พุทธวิธีในการสอน. พิมพ์ครั้งที่ ๔. โรงพิมพ์เม็ดทราย. กรุงเทพฯ. ๒๕๔๕.   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น